ไหมหม่อนในประเทศไทย

เชื่อกันว่าการผลิตผ้าไหมมีต้นกำเนิดในภูมิภาคของจีนเมื่อกว่า 5,000 ปีมาแล้ว เดิมทีผ้าไหมสงวนไว้สำหรับจักรพรรดิ์เท่านั้น แต่ต่อมามีการใช้ผ้าไหมแพร่หลายไปทั่วประเทศ ไปจนส่วนอื่นๆ ในแถบภูมิภาคเอเชีย

หนอนไหมหม่อน

หนอนไหมมีอยู่ 2-3 ชนิด จำแนกตามชนิดของหนอนไหมที่สร้างรังไหม ที่พบมากที่สุดในประเทศไทยคือไหมหม่อน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าไหมบ้าน การเลี้ยงหนอนไหมหม่อนมีวิวัฒนาการมานับพันปี เพื่อให้หนอนไหมสามารถผลิตรังไหมที่มีความหนาและใหญ่กว่าหนอนไหมป่าตามธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างหนอนไหมกับมนุษย์ ไม่ต่างจากที่เราเลี้ยงสัตว์เลี้ยงน่ารัก หรือเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหาร  หนอนไหมต้องการการดูแลจากคน เพราะมันไม่สามารถแม้กระทั่งบินเพื่อออกไปสืบพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ ด้วยขนาดของลำตัวที่ใหญ่และหนักเกินกว่าที่จะบินได้

หนอนไหมหม่อนจะกินเฉพาะใบหม่อนเป็นอาหารเท่านั้น พวกมันจะไม่ยอมกินใบไม้อื่นเพื่อเป็นอาหารเลย และพวกมันก็ไวต่อสารเคมีมาก หากมีสารเคมีปนเปื้อนในอาหารสามารถทำให้พวกมันตายได้เลย

รังของหนอนไหมหม่อน

ผ้าไหมอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นที่ยอมรับนักในกลุ่มวีแกน (กลุ่มที่เคร่งในการเป็นมังสวิรัติ ไม่เพียงแค่รับประทานอาหารจากพืชเท่านั้น แต่ยังงดใช้เครื่องอุปโภคที่ทำมาจากสัตว์ และไม่สนับสนุนกิจกรรมที่เบียดเบียนสัตว์ทุกประเภท) เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตเส้นไหมนั้น ต้องนำรังไหมมาต้มในขณะที่ยังมีหนอนไหมอยู่ อย่างไรก็ดี ชาวบ้านจะทำการเลี้ยงหนอนไหมด้วยวิถีที่ยั่งยืน โดยไม่ก่อให้เกิดของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านจะใช้มูลไหมที่ได้จาการเลี้ยงหนอนไหมหม่อนมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับต้นหม่อนที่ใช้เป็นแหล่งอาหารของหนอนไหม ดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นว่าหนอนไหมหม่อนมีความไวต่อสารเคมีมาก การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากธรรมชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงไหมหม่อน และตัวหนอนไหมหม่อนเองก็จะกลายเป็นแหล่งอาหารที่ให้โปรตีนสูงต่อมนุษย์ต่อไป ซึ่งการเลี้ยงไหมหม่อนในประเทศไทย นับเป็นการสนับสนุนชุมชนให้มีรายได้ให้กลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง พร้อมทั้งสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ยั่งยืนสืบไปถึงลูกถึงหลาน 

 

การสาวไหม

การแยกแยะไหมแท้กับไหมปลอมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับคนทั่วไป ขั้นตอนการทดสอบมีตั้งแต่การสัมผัส การฟังเสียง การเผาไฟ หรือแม้กระทั่งการละลายในคอปเปอร์ซัลเฟต เพื่อตรวจสอบดูว่าเป็นไหมแท้หรือไหมเทียม เส้นใยของไหมเทียมที่ได้ทำมาจากโพลีเอสเตอร์ที่ได้มาจากปิโตรเลียม เมื่อเราไม่ต้องการมันแล้ว มันจะกลายเป็นขยะที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมทันที ไม่เหมือนเส้นใยธรรมชาติ 

เส้นใยไหมเป็นเส้นใยธรรมชาติที่มีความเหนียวและทนทานมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นคนรุ่นหลังยังสามารถนำเสื้อผ้าไหมที่เคยเป็นของคนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายมาสวมใส่ได้อีก